วันจันทร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2554

บทบาทของนักศึกษากับ QA

บทบาทของนักศึกษากับการประกันคุณภาพการศึกษา

ความจำเป็นในการพัฒนาบทบาทนักศึกษาในการประกันคุณภาพการศึกษา

นักศึกษาในฐานะผู้รับบริการและเป็นผลผลิตสำคัญของวิทยาลัย และเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงของวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษา จึงมีพันธะสำคัญในการส่งเสริมสนับสนุนคุณภาพการจัดการการศึกษาของสถาบัน มีส่วนร่วมและเป็นพลังสำคัญในการผลักดันให้งานการประกันคุณภาพการศึกษามีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงได้มีมาตรฐาน QA กำหนดให้มีตัวบ่งชี้ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานการประกันคุณภาพการศึกษาของนักศึกษาไว้ในตัวบ่งชี้ที่ 9.2 มีระบบและกลไกการให้ความรู้ทักษะด้านการประกันคุณภาพแก่นักศึกษา มีรายละเอียดดังนี้
ตัวบ่งชี้ที่ 9.2 มีระบบและกลไกการให้ความรู้ทักษะด้านการประกันคุณภาพแก่นักศึกษา
คำอธิบาย: วิทยาลัยมีการดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้ ในระบบประกันคุณภาพการศึกษาของวิทยาลัย เพื่อให้นักศึกษามีความรู้ ความเข้าใจ มีทักษะและมีส่วนร่วมใน QA เพื่อส่งเสริมให้การประกันคุณภาพการศึกษาของวิทยาลัยให้เข้มแข็งรวมทั้งจัดระบบให้กิจกรรมนักศึกษามีการประกันคุณภาพการศึกษาทุกกิจกรรม
เกณฑ์มาตรฐาน
1.มีระบบการให้ความรู้และทักษะการประกันคุณภาพการศึกษาแก่นักศึกษา
2.มีระบบส่งเสริมให้นักศึกษานำความรู้ด้าน QA ไปใช้กับกิจกรรมนักศึกษา
3.มีกลไกให้นักศึกษามีส่วนร่วมในการประกันคุณภาพการศึกษาของสถาบัน หรือวิทยาลัย
4.นักศึกษามีการใช้กระบวนการคุณภาพ ในการพัฒนาทุกกิจกรรมของนักศึกษา
5.นักศึกษาสร้างเครือข่ายการพัฒนาคุณภาพภายใน และระหว่างสถาบัน
6.มีระบบติดตามและประเมินผลการประกันคุณภาพในกิจกรรมที่นักศึกษาดำเนินในส่วนที่นักศึกษามีส่วนร่วมกับ QA
ของสถาบัน
7.มีการนำผลการประเมินไปพัฒนากระบวนการให้ความรู้และกลไกการดำเนินงาน QA ที่เกี่ยวข้องกับนักศึกษาอย่างต่อเนื่อง
_บทบาทนักศึกษาในการประกันคุณภาพการศึกษา
เป็นไปตามตัวบ่งชี้ ๓.๒ ระบบและกลไกการส่งเสริมกิจกรรมนักศึกษาที่กล่าวไปแล้ว




_การมีส่วนร่วมในการประกันคุณภาพการศึกษา
นักศึกษามีส่วนร่วมในการประกันคุณภาพตามภารกิจของสถาบันและในส่วนที่เกี่ยวกับการบริหารงานของสถาบัน ดังนี้

๑) ด้านการเรียนการสอน
นักศึกษาใน วทก.มีส่วนร่วมในการเรียนการสอน และกระบวนการพัฒนาการเรียนรู้ ด้วยตนเองโดยมีการเข้าห้องสมุด หรือห้องบริการคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตของวิทยาลัยฯ เพื่อค้นคว้าข้อมูลเรื่องที่เรียนเพิ่มเติมหลัง และเมื่อเรียนจบภาค ๑ ภาคเรียนนักศึกษามีส่วนในการประเมินการเรียน และประเมินผลการสอนของอาจารย์ใน วทก. เพื่อให้นำผลการประเมินเหล่านั้นให้อาจารย์ บุคลากร และตัวนักศึกษาได้ปรับปรุงแผนการสอน และการเรียนในภาคการศึกษาถัดไปให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากนี้ในด้านการเรียนการสอนแล้ว ในวิทยาลัยฯ ยังมีชมรมทั้งหมด ๑๑ ชมรมให้นักศึกษาได้สมัครเข้าชมรมและทำกิจกรรมภายในชมรมเพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้และฝึกฝนตัวเอง เพิ่มเติมหรือนอกเหนือจากในตำราเรียน เช่น ชมรมจริยธรรม ที่ส่งเสริมให้นักศึกษาได้สวดมนต์เวลา ๒๐.๐๐ น.ทุกคืน ชมรมกีฬา ที่ได้ส่งเสริมให้นักศึกษาทุกหลักสูตรแข่งขันกีฬาภายในสถาบันเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์กันภายในวิทยาลัย และชมรม ถ่ายภาพ ได้ออกค่ายอาสาร่วมกับชมรมโสตทัศนศึกษาแห่งประเทศไทยที่ผ่านมา เป็นต้น โดยกิจกรรมนักศึกษาเหล่านี้นักศึกษาจำเป็นที่จะต้องมีส่วนร่วมในกิจกรรมนักศึกษาแต่ละประเภท ซึ่งจะส่งผลจต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา และตัวบ่งชี้ที่เกี่ยวข้องด้านการเรียนการสอนและกิจกรรมนักศึกษาที่ได้กล่าวไปแล้ว

๒) ด้านการวิจัย
วิทยาลัยเทคโนโลยีทางการแพทย์ฯ ได้พัฒนาและจัดรายวิชาการวิจัยเข้าไว้ในแผนการเรียนการสอนของทุกหลักสูตร ในชั้นปีที่ ๒ แต่สำหรับหลักสูตรวิทยาศาสตร์การแพทย์ (พยาธิวิทยาคลินิก) ถูกจัดไว้ในชั้นปีที่ ๑ เทอมที่ ๒ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักศึกษามีประสบการณ์ด้านการวิจัย สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านการเรียนได้

๓) ด้านการบริการวิชาการแก่สังคม
วิทยาลัยเทคโนโลยีทางการแพทย์ฯ นอกจากจะเปิดการเรียนการสอนแล้ว ในวิทยาลัยฯยังได้เปิดคลินิกการแพทย์แผนไทย ให้บริการโดยอาจารย์และนักศึกษาการแพทย์แผนไทยที่คอยให้บริการและให้ความรู้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ นอกจากนี้ในชั้นปีที่ ๑ ช่วงที่ปฐมนิเทศนักศึกษาวิทยาลัยฯ ได้มีกิจกรรมจัดให้นักศึกษาได้ลงชุมชนต่างๆ เพื่อให้นักศึกษาได้แลกเปลี่ยน และมีโอกาสสอบถามเกี่ยวกับวิถีชุมชนและวิถีชีวิตในชุมชน โดยจัดให้ไปในฐานะลูกบุญธรรมของครอบครัวในชุมชนนั้นในระยะเวลาสั้นๆ


๔) ด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
วิทยาลัยเทคโนโลยีทางการแพทย์ฯ ผ่านทางกิจกรรมของสโมสรนักศึกษา และชมรมนักศึกษาได้จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม เช่น จัดให้นักศึกษาเข้าแถวเคารพธงชาติทุกเช้า เพื่อให้นักศึกษามีจิตสำนึกในความเป็นไทย , ในวันปีใหม่ที่ผ่านมาสโมสรนักศึกษาได้จัดกิจกรรมตักบาตรข้าวสาร อาหารแห้งขึ้นเพื่อให้นักศึกษาชาวพุทธได้ตระหนักถึงความเป็นพุทธศาสนิกชนและช่วยกันทำนุบำรุงพุทธศาสนามิให้เสื่อมทรามลงไป และวิทยาลัยยังส่งเสริมและถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของวิทยาลัยนั่นคือ วัฒนธรรมการไหว้ ที่ทำให้นักศึกษารู้จักการเคารพและให้เกียรติผู้ที่อาวุโสกว่า


โดย นักศึกษาสมาชิกชมรม qa วิทยาลัยเทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุข กาญจนาภิเษก ปีการศึกษา ๒๕๕๓