วันพุธที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2554

คำศัพท์ที่เกี่ยวข้องในงานประกันคุณภาพการศึกษา

คำศัพท์ที่ใช้ในงานประกันคุณภาพการศึกษา

เพื่อให้บุคลากรทุกระดับของวิทยาลัยฯ มีความเข้าใจตรงกันถึงความหมายของคำศัทพ์ที่ใช้ในการดำเนินงานประกันคุณภาพการศึกษาของวิทยาลัย จึงได้รวบรวมคำศัพท์ต่างๆ ไว้ดังนี้

1.มาตรฐานการศึกษา หมายถึง ข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณลักษณะ คุณภาพ ที่พึงประสงค์และมาตรฐานที่ต้องการให้เกิดขึ้นในวิทยาลัย และเพื่อใช้เป็นหลักในการเทียบเคียงสำหรับการส่งเสริมและกำกับ ดูแล การตรวจสอบ การประเมินผล และการประกันคุณภาพทางการศึกษา

2.การประกันคุณภาพการศึกษา หมายถึง การดำเนินงานเกี่ยวกับการจัดการศึกษาอย่างมีระบบ ตามแผนที่กำหนดไว้ ทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่าผลผลิตที่เกิดขึ้น มีคุณภาพมาตรฐาน ตามคุณลักษณะที่ต้องการ

3.การประกันคุณภาพภายใน หมายถึง กระบวนการบริหารจัดการต่างๆ ภายในวิทยาลัย ที่ส่งเสริมให้การดำเนินงานจัดการศึกษาของวิทยาลัยมีคุณภาพมาตรฐาน โดยมีการควบคุมคุณภาพ (Quality Control) การตรวจสอบ (Quality Audit) และการประเมินคุณภาพ (Qualty Assessment) อย่าง ต่อเนื่อง เพื่อให้บุคลากรของวิทยาลัย มั่นใจว่าการดำเนินงานตามภารกิจมีคุณภาพมาตรฐาน

4.การควบคุมคุณภาพ (Quality Control) หมายถึง การที่วิทยาลัยฯ กำหนดให้หน่วยงานจัดระบบและกลไกการควบคุมคุณภาพที่เหมาะสม พร้อมทั้งให้มีระบบตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินการภายในด้วย

5.การตรวจสอบคุณภาพ (Quality Audit) หมายถึง การตรวจสอบผลการดำเนินการของระบบกลไกควบคุมคุณภาพภายในที่สถาบันได้จัดให้มีขึ้น โดยเป็นการตรวจสอบเชิงระบบมุ่งเน้นการพิจารณาว่าสถาบันได้มีระบบการควบคุมคุณภาพหรือไม่ ได้ใช้ระบบพัฒนาขึ้นเพียงใด และมีขั้นตอนการดำเนินการที่ทำให้เชื่อถือได้หรือไม่ว่าการจัดการศึกษาเป็นไปอย่างมีคุณภาพ

6.การประเมินคุณภาพภายใน (Internal Quality Assessment) หมายถึง กระบวนการประเมินผล การดำเนินการของวิทยาลัยฯ โดยบุคลากรภายในวิทยาลัยเอง เพื่อประเมินโดยภาพรวมว่า เมื่อได้มีการใช้ระบบการประกันคุณภาพการศึกษา หรือระบบการควบคุมคุณภาพการศึกษาแล้ว ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงคุณภาพมากน้อยเพียงใด

7.การประกันคุณภาพภายนอก หมายถึง การที่องค์กรภายนอกตามที่ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ กำหนดไว้ ได้ดำเนินการตรวจสอบ/ประเมินระบบ กลไก การดำเนินงานประกันคุณภาพการศึกษาภายในวิทยาลัยฯ และเผยแพร่ข้อมูลผลการดำเนินงานต่อสาธารณะ เพื่อให้สังคมมั่นใจว่าวิทยาลัยฯ มีการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน

8.คู่มือคุณภาพ (Quality Manual) หมายถึง เอกสารที่วิทยาลัย จัดทำขึ้น โดยมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับระบบและกลการประกันคุณภาพ มาตรฐาน ตัวบ่งชี้ และเกณฑ์ตัดสิน การจัดทำรายงานการประเมินตนเอง และการตรวจประเมินคุณภาพภายใน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานของบุคลากร

9.คู่มือขั้นตอนการทำงาน (Procedure Manual) และ วิธีการปฏิบัติงาน (Work Instruction) เป็นเอกสารที่วิทยาลัยฯ จัดทำขึ้น ตามข้อกำหนดระบบคุณภาพ ISO 9001 : 2000 ครอบคลุมกระบวนการจัดการศึกษาตั้งแต่การนำเข้า กระบวนการดำเนินงาน และผลผลิต เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานของบุคลากร ทั้งนี้ได้คำนึงคุณภาพและเกณฑ์มาตรฐาน รวมทั้งองค์ประกอบสำคัญต่างๆ

10.คู่มือประกันคุณภาพการศึกษา หมายถึง เอกสารที่วิทยาลัยจัดทำขึ้น เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติงานการประกันคุณภาพการศึกษาในภาพรวมทั้งหมด เพื่อให้สอดคล้องกับการประกันคุณภาพการศึกษา ตามตัวบ่งชี้สมรรถนะสำคัญ (KPI)

11.มาตรฐานคุณภาพ หมายถึง มาตรฐานที่ สมศ.กำหนดขึ้นเพื่อให้สอดคล้องและครอบคลุมกับภาระกิจด้านการจัดการศึกษา อันมีผลต่อการควบคุมคุณภาพตั้งแต่ตัวป้อน กระบวนการ และผลผลิต ประกอบด้วย มาตรฐานด้านคุณภาพบัณฑิต มาตรฐานด้านงานวิจัยและงานสร้างสรรค์ มาตรฐานด้านการบริการวิชาการ มาตรฐานด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มาตรฐานด้านพัฒนาสถาบันและบุคลากร มาตรฐานด้านหลักสูตรและการเรียนการสอน และมาตรฐานด้านการประกันคุณภาพการศึกษา

12.รายงานการประเมินตนเอง (Self Assessment Report) หมายถึง รายงานที่วิทยาลัยฯ ทำการรวบรวมข้อมูล และศึกษาการดำเนินงานด้านต่างๆ ของตนเอง เพื่อเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจประเมินและให้การรับรองคุณภาพการศึกษา รวมทั้งใช้เป็นข้อมูลประกอบการปรับปรุงและพัฒนาตนเอง

         ชมรมการประกันคุณภาพการศึกษา QA ปีการศึกษา 2553
ดูรายละเอียดอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่เว็บบอร์ดชมรม http://qakmpht.fix.gs